วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขอไร้สาระหน่อยนะ “ต้มยำไก่น้ำใส ใส่ฟัก”

    วันนี้จะทำแกงเขียวหวานไก่ เตรียมฟัก เตรียมไก่ เตรียมเครื่อง ทุกอย่างไว้พร้อม หั่นๆ เฉือนๆ พอจะทำจริง นึกขึ้นได้


“ไม่มีโหระพานี่หว่า”

ชั่งใจนิดนึง

“จะทำแกงเขียวหวานทั้งที่ไม่มีโหระพาดีมั้ยนะ...”

“ไม่ได้ๆ เดี๋ยวไม่หอม”

“แต่หั่นฟักไว้แล้วนะ”

“เครียดๆๆ”

กลับไปสำรวจเครื่องในตู้เย็นใหม่

“อืม...ทำอะไรดีหว่า”

เอาหัวมุดตู้เย็น (หาวัตถุดิบ)

“มีตะไคร้ กับข่า -*- หรือว่าทำต้มยำดีนะ”

“แต่ว่าหั่นฟักไว้แล้วนิ ต้มยำใส่ฟักมันแปลกๆ เน้อ”

ชั่งใจอีกรอบ

“ฟักหั่นไว้แล้วน้า ถ้าไม่ใช้เสียของพอดี”

“เอาวะ ทำต้มยำไก่ใส่ฟักนี่แหละ”


ว่าแล้วข้าพเจ้าก็จัดการเอาเครื่องต้มยำมาหั่น อันได้แก่

1. ข่า
2. ตะไคร้
3. ใบมะกรูด
4. พริก

หั่นเรียบร้อยก็จัดการตั้งกะทะ (ข้าพเจ้าใช้กะทะไฟฟ้าเน้อ) ใส่น้ำแล้วก็เครื่อง (ข่า ตะไคร้ ในมะกรูด) ลงไป



รอให้เดือด แล้วใส่ไก่ (ที่หั่นไว้แล้ว) ลงไป ต้มจนไก่สุก



ปรุงรสด้วยเกลือ (จะใส่น้ำปลาก็ได้นะ แต่ว่ามันเค็มคนละแบบ ถนัดใส่อะไร ก็ใส่อันนั้นแล) น้ำตาล (บางคนก็ไม่ใส่เน้อ) แล้วก็ชิมรสตามชอบ



ใส่ฟักลงไป รอจนฟักสุก แล้วใส่พริก ปิดไฟ หอมล่ะทีนี้



สงสัยมั้ยจ้ะ ว่าทำไมไม่ใส่น้ำมะนาว ข้าพเจ้าใส่น้ำมะนาวตอนตักใส่ถ้วยเน้อ ( วิธีทำ ของแต่ละคนจะต่างออกไป แล้วแต่ถนัด)



อ้อๆ ข้าพเจ้าไม่ใส่มะเขือเทศเน้อ เพราะไม่ชอบแล้วก็ไม่มีด้วยแหละ (ใครชอบก็ใส่ไปซะนะ) แถมไม่มีเห็ด อีกตะหาก ตามมีตามเกิด อิอิ (เห็ดใส่หลังไก่สุกเน้อ) แล้วก็อย่าลืมหุงข้าวไว้ก่อนล่ะ ข้าพเจ้าทำต้มยำเสร็จ เพิ่งนึกได้ ยังไม่หุงข้าวนี่หว่า (ขี้ลืมซะจริง = =”) ต้องรอข้าวสุกอีก ทรมานกระเพาะจริงเน้อ


ไหน ๆ ก็ไหนๆ ละ มีภาพประกอบหน่อยละกัน

ตอนเดือด



เสร็จแล้วเย้ๆ



อยู่ในถ้วยแล้วจ้า


ต้มยำใส่ฟัก ข้าพเจ้า พิสูจน์ มาแล้ว กินได้ ไม่ตาย ส่วน อร่อยไม่อร่อยอีกเรื่องนึง 555+



คนที่ทำกับข้าวไม่เป็น ไม่ต้องกลัว ทำไปเถอะ ถ้าไม่เริ่มทำก็ไม่เป็นซักทีน่ะสิ

จากสำนวนของ William Shakespeare ว่า
They say, best men are moulded out of faults.
ยอดคนคือผู้ฝึกฝนจากความผิดพลาด
(ไม่รู้ว่าแปลถูกรึเปล่านะ ถ้าแปลผิดก็บอกด้วยละกัน เข้าใจว่างี้อ่ะ)

แรกๆ อาจจะไม่อร่อย ทำบ่อยๆ ก็อร่อยเองแหละ สู้ๆ



    ปล. ข้าพเจ้าแง้มๆ ในอินเตอร์เน็ต หาต้มยำใส่ฟัก ไม่เจอ แต่เปิดไปเจอ วิธีทำต้มยำอยู่เว็บไซต์หนึ่ง (ไม่บอกละกันว่าเว็บไซต์ไหน) วัตถุดิบและวิธีทำมันเป็นต้มยำน้ำใสแท้ๆ แต่ไหงภาพประกอบ มันเป็นต้มยำน้ำพริกเผาได้เน้อ ไม่เข้าใจจริงๆ ไม่ทราบว่าเจ้ ใส่น้ำพริกเผาตอนไหนเนี่ย!!!

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)

     วิลเลียม เชกสเปียร์ (อังกฤษ: William Shakespeare; รับศีล 26 เมษายน ค.ศ. 1564 - 23 เมษายน ค.ศ. 1616) เป็นกวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ได้รับยกย่องทั่วไปว่าเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษและของโลก มักเรียกขานกันว่าเขาเป็นกวีแห่งชาติของอังกฤษ และ "Bard of Avon" (กวีแห่งเอวอน) งานเขียนของเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยบทละคร 38 เรื่อง กวีนิพนธ์แบบซอนเน็ต 154 เรื่อง กวีนิพนธ์อย่างยาว 2 เรื่อง และบทกวีแบบอื่นๆ อีกหลายชุด บทละครของเขาได้รับการแปลออกไปเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และเป็นที่นิยมนำมาแสดงมากที่สุดในบรรดาบทละครทั้งหมด


    เชกสเปียร์เกิดและเติบโตที่เมืองสแตรทฟอร์ด ริมแม่น้ำเอวอน เมื่ออายุ 18 ปี เขาสมรสกับแอนน์ ฮาธาเวย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ ซูซานนา และฝาแฝด แฮมเน็ตกับจูดิธ ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1585-1592 เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงในกรุงลอนดอน รวมถึงการเป็นนักเขียน ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain's Men) ซึ่งในภายหลังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ King's Men เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรทฟอร์ดในราวปี ค.ศ. 1613 และเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา ไม่ค่อยมีบันทึกใดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเชกสเปียร์มากนัก จึงมีทฤษฎีมากมายที่คาดกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา และแรงบันดาลใจในงานเขียนของเขา

    ผลงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของเชกสเปียร์ประพันธ์ขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1590 ถึง 1613 ในยุคแรกๆ บทละครของเขาจะเป็นแนวชวนหัวและแนวอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางบทละครที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาเขาเขียนบทละครแนวโศกนาฏกรรมหลายเรื่อง รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต King Lear และ แม็คเบธ ซึ่งถือว่าเป็นบทละครตัวอย่างชั้นเลิศของวรรณกรรมอังกฤษ ในช่วงปลายของการทำงาน งานเขียนของเขาจะเป็นแนวสุข-โศกนาฏกรรม (tragicomedies) หรือแนวโรมานซ์ และยังร่วมมือกับนักเขียนบทละครคนอื่นๆ อีกมาก บทละครของเขาตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายรูปแบบโดยมีรายละเอียดและเนื้อหาต่างๆ กันตลอดช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ในปี ค.ศ. 1623 เพื่อนร่วมงานสองคนในคณะละครของเขาได้ตีพิมพ์หนังสือ "First Folio" เป็นการรวบรวมงานเขียนของเขาขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้บรรจุบทละครที่ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นงานเขียนของเชกสเปียร์เอาไว้ทั้งหมด (ขาดไปเพียง 2 เรื่อง)

    ในยุคสมัยของเขา เชกสเปียร์เป็นกวีและนักเขียนบทละครที่ได้รับการยกย่องอยู่พอตัว และเขาได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงเช่นในปัจจุบันนี้นับตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 กวียุคโรแมนติกยกย่องนับถือเชกสเปียร์ในฐานะอัจฉริยะ ขณะที่กวียุควิคตอเรียเคารพนับถือเชกสเปียร์อย่างยิ่ง กระทั่ง จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เรียกเขาว่า Bardolatry (คำยกย่องในทำนอง "จอมกวี" หรือ "เทพแห่งกวี") ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการดัดแปลงงานประพันธ์ของเขาออกไปเป็นรูปแบบแนวทางใหม่ๆ โดยเหล่านักวิชาการและนักแสดงมากมาย ผลงานของเขายังคงเป็นที่นิยมอย่างสูงจนถึงปัจจุบันและมีการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ในทุกประเทศทุกวัฒนธรรมทั่วโลก



ตัวอย่างผลงานบางส่วน


- Romeo and Juliet โรมิโอกับจูเลียต

- Hamlet แฮมเลต

- Julius Caesar จูเลียส ซีซาร์

- Othello โอเธลโล

- Measure for Measure

- Twelfth Night ราตรีที่สิบสอง หรืออะไรก็ได้

- King Lear

- The Merchant of Venice เวนิสวาณิช

- The Phoenix and the Turtle

- The Birth of Merlin

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ภาษาดอกไม้: คาร์เนชั่น (Language of carnation)

        หลายๆ คนคงเคยให้ดอกไม้แก่คนที่เรารักไม่ว่าจะเป็นบุพการี เพื่อนหรือคนรักก็ตาม ดอกไม้ไม่ได้มีแึค่ความสวยงามเท่านั้น หากมีความหมายในตัวของมัน เพื่อสื่อถึงความรู้สึกของเราให้มากที่สุด ควรจะเลือกดอกไม้ที่ตรงกับความรู้สึกของเราให้มากที่สุด ดอกคาร์เนชั่น เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีความหมายที่หลากหลาย หากต่างสีสัน ต่างแบบ ต่างจำนวน ความหมายก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน  ในการจะมอบดอกไม้ให้ใครสักคนนั้น หากเราใช้ึความละเอียดอ่อนในการเลือกสรร คาดว่าึคนที่เรารักคงประทับใจได้ไม่น้อยทีเดียว

Carnation (โดยทั่วไป)

    ความหมาย: สัญญาแห่งรัก, สุขภาพดีและแข็งแรง, ความหลงใหล, ความรักที่ไร้หนทาง

Carnation (ชมพู)

    ความหมาย: ฉันไม่เคยลืมคุณ

Carnation (ม่วง)

    ความหมาย: ความไม่แน่นอน, แปลกชอบกล

Carnation (แดง)

    ความหมาย: คุณทำให้ฉันปวดใจ, การชมเชย
 
Carnation (สีเดียว)

    ความหมาย: ตอบรับ
 
Carnation (หลายสีในดอกเดียว)

    ความหมาย: ไม่ตอบรับ, การปฏิเสธ, ขอโทษนะ ฉันไม่สามารถอยู่กับคุณได้

Carnation (ขาว)

    ความหมาย: หวานและน่ารัก, ความไร้เดียงสา, รักที่บริสุทธิ์, ของขวัญที่แสนโชคดีสำหรับผู้หญิง
 
Carnation (เหลือง)

    ความหมาย: คุณทำให้ฉันไม่สบอารมณ์, การปฏิเสธ, การเหยียดหยาม


        ถึงแม้เราจะไม่รู้ความหมายของดอกไม้ดอกนั้นเลยก็ตาม สุดท้ายสิ่งที่สำคัญ ความความตั้งใจ ความจริงใจ ของผู้ให้ แค่นี้ก็ทำให้ผู้รับมีความสุขแล้วล่ะค่ะ